ปตท.โหมลุยธุรกิจใหม่กระตุ้น ศก.รับปีเสือ เทงบรุก Life Science – EV Value Chain

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

ปี 2565 ภาคเอกชนไทยมีแนวโน้มขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย หลังมีการชะลอการลงทุนจากผลกระทบโควิด-19 ไม่เพียงแต่ลงทุนในธุรกิจหลักอยู่แล้ว แต่เบนเข็มเข้าสู่ธุรกิจใหม่ New S-Curve เพิ่มขึ้น เกาะเทรนด์โลก ผนวกกับนโยบายภาครัฐที่ให้การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งพบว่าในปี 2564 บางบริษัทได้ชิมลางลงทุนกันมาบ้างแล้ว

โดยเฉพาะกลุ่มทุนพลังงานของไทยที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ และมีฐานการเงินที่แข็งแกร่งอย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) บริษัทพลังงานเบอร์หนึ่งของไทย ที่แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในช่วงแรกๆ แต่ก็กลับมายืนอย่างแข็งแกร่งได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับประกาศวิสัยทัศน์และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่เป็น Powering Life with Future and Beyond หรือการขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยการมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตและเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เพื่อรับมือวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากผลพวงโควิด-19 ผลกระทบจากเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (Disruptive Technology) และปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้หลายประเทศทั่วโลกต่างแสดงจุดยืนร่วมกันในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ตามความพร้อมของประเทศ ซึ่งไทยประกาศที่จะก้าวสู่ Net Zero Emission ในปี ค.ศ. 2065

ทั้งนี้ ปตท.ได้กำหนดเป้าหมายในการลงทุนในธุรกิจใหม่สอดคล้องตามเทรนด์ของโลก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจพลังงานใหม่ (New Energy ), ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) ธุรกิจที่เกี่ยวกับความคล่องตัวและไลฟ์สไตล์ (Mobility & Lifestyle), ธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (High Value Business), ธุรกิจโลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐาน (Logistics & Infrastructure) และการพัฒนาธุรกิจด้านระบบปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ (AI & Robotics Digitalization) ซึ่งพบว่าในปี 2564 กลุ่ม ปตท.ได้ลงทุนอย่างเข้มข้นตลอดทั้งปี

ล่าสุด คณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้อนุมัติงบการลงทุน 5 ปี (ปี 2565-2569) ของ ปตท.และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 เป็นวงเงินรวมถึง 102,165 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติประมาณ 45,511 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 45% ของเงินลงทุนทั้งหมด ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 20,547 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายอยู่ที่ 1,604 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ราว 8,396 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8% และการลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% อยู่ที่ 26,107 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 25% ของงบลงทุนรวม

 

เป็นที่น่าสังเกตว่าทางปตท.ได้จัดสรรงบเพื่อการลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 25% หรือราว 26,107 ล้านบาท หากมาดูอย่างจริงจังพบว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ปตท.ได้มีการตั้งบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% เพิ่มขึ้นหลายบริษัท ซึ่งบริษัทย่อยเหล่านี้เป็นหัวหอกในการแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจเป้าหมายที่ ปตท.ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ซึ่งบริษัทที่มีบทบาทมากในช่วงเกิดการระบาดโควิด-19 เพราะเป็นบริษัทที่ลงทุนในธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตหรือ Life Science (ยา Nutrition อุปกรณ์ทางการแพทย์) ดังนั้นในปี 2564 อินโนบิก (เอเซีย) ได้ร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นการเรียนรู้ทางลัดที่ได้ผลเร็ว แม้ว่าจะใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงมากก็ตาม

เมื่อเร็วๆ นี้ อินโนบิก (เอเซีย) ได้ประกาศเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (Lotus Pharmaceutical Co., Ltd. ) บริษัทผู้ผลิตยาสามัญชั้นนำจากไต้หวันจากเดิมที่ถือหุ้นอยู่ 6.66% เพิ่มขึ้นเป็น 37% ช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ป่วยคนไทยได้มีโอกาสเข้าถึงยาได้มากขึ้น โดยสัดส่วนการถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นมีผลภายหลังจากที่อินโนบิก (เอเซีย) ได้ร่วมกับแอซทีค (Aztiq) เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท อัลโวเจน อีเมอร์จิง มาร์เก็ต โฮลดิ้ง จำกัด (Alvogen Emerging Markets Holdings : AEMH) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลัก Lotus Pharmaceutical และถือหุ้น 100% ของบริษัท อดัลโว จำกัด (Adalvo) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการซื้อขายยาและสิทธิบัตรที่มีเครือข่ายทั่วโลก ในมูลค่าเงินลงทุนรวม 475 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้อินโนบิกถือหุ้นสัดส่วน 60% ใน Adalvo ซึ่งดีลนี้ทำให้อินโนบิก (เอเซีย) ก้าวเข้าสู่ธุรกิจยาแบบครบวงจรได้อย่างก้าวกระโดด

ก่อนหน้านี้ อินโนบิก (เอเซีย) ยังได้ร่วมทุนกับ บมจ.ไออาร์พีซี จัดตั้งบริษัทร่วมทุน “อินโนโพลีเมด” เพื่อตั้งโรงงานผลิตผ้าไม่ถักทอ (Non-woven Fabric) เช่น ผ้าที่ขึ้นรูปด้วยวิธี Melt Blown ใช้ทำหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ โดยได้เริ่มผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้วในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 นับเป็นการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร

 

ไม่เพียงแต่รุกธุรกิจยาและวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์เท่านั้น อินโนบิก (เอเซีย) ยังได้ร่วมทุนกับบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด ตั้งบริษัทร่วมทุน คือบริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based Protein) ผลิตจากพืชที่ให้โปรตีนสูง

บริษัทนิวทราฯ ได้เซ็นสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศอังกฤษ เพื่อตั้งโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชชั้นสูงด้วยเทคโนโลยีการผลิตจากอังกฤษ ตั้งเป้ากำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี มีแผนจะเริ่มดำเนินการออกแบบ และก่อสร้างในปี 2565 นับเป็นการตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการดูแลสุขภาพ นับเป็นจุดเริ่มต้นการเข้าสู่ธุรกิจอาหารเพื่อโภชนาการ และโภชนเภสัช ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่อินโนบิก (เอเซีย) ได้ตั้งเป้าหมายไว้

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/business

 

“อรุณ พลัส” หัวหอกรุก EV Value Chain

ไม่เพียงเท่านี้ ปตท.ยังได้มีการลงทุนธุรกิจด้าน EV Value Chain โดยได้จัดตั้งบริษัทย่อย “อรุณ พลัส “(ARUN PLUS) ถือหุ้น 100% เพื่อลงทุนภายใต้กลยุทธ์ New S-Curve ที่ ปตท.ต้องการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า( EV ) แบบครบวงจร โดยในปี 2564 อรุณ พลัส ได้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนกับบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด หรือฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ซึ่งเป็นผู้นำการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกจากไต้หวัน ดำเนินธุรกิจผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยใช้ความเชี่ยวชาญของ Foxconn ทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีในการผลิตและพัฒนาแพลตฟอร์ม MIH (Mobility-In-Harmony) ร่วมกับองค์ความรู้การดำเนินธุรกิจในไทยของกลุ่ม ปตท. พัฒนาแพลตฟอร์มการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศ ช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่

ทั้งนี้ อรุณ พลัส จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท ลี่ยี่ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด (Lin Yin) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ Foxconn ถือหุ้นทั้งหมด โดยอรุณ พลัสจะถือหุ้น 60% และ Lin Yin ถือหุ้น 40% เพื่อดำเนินโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นในไทยแบบครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ ผลิตรถ EV และชิ้นส่วนสำคัญ เช่นแบตเตอรี่ คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจการลงทุนขั้นสุดท้ายได้ในครึ่งหลังปี 2565

เมื่อตัดสินใจลงทุนแล้ว โครงการนี้จะใช้เงินเบื้องต้น 1-2 พันล้านเหรียญสหรัฐในการตั้งโรงงานผลิตรถ EV ซึ่ง ปตท.ยืนยันว่าไม่ได้มุ่งหวังสร้างแบรนด์รถ EV เอง แต่เน้นการรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับค่ายรถยนต์ที่มีความต้องการผลิต EV โดยไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานเองก็สามารถเข้ามาใช้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วและต้นทุนต่ำ โดยวางเป้าหมายการผลิตรถ EV ในระยะแรก 50,000 คันต่อปี และขยายเพิ่มเป็น 150,000 คันต่อปีในอนาคต

ขณะเดียวกัน อรุณ พลัสยังได้จับมือกับ บริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด (Hozon) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโอกาสทางธุรกิจและการผลิต EV ในประเทศไทยด้วย เบื้องต้นจะเป็นการนำเข้า EV จัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Neta V ที่ผลิตโดย Hozon โดยมีบริการหลังการขายที่เกี่ยวข้องผ่าน EVme ดิจิทัลแพลตฟอร์มของอรุณ พลัส หลังจากนั้นก็มองโอกาสในการผลิต EV ในประเทศไทยผ่านแพลตฟอร์มการผลิตที่ร่วมทุนกับ Foxconn

นอกเหนือจากการพัฒนาการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว “อรุณ พลัส” มีการขยายเครือข่ายสถานีเครื่องอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) เพื่อรองรับรถ EV ที่เพิ่มขึ้นภายใต้แบรนด์ออน-ไอออน (on-ion) ในพื้นที่ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน เพื่อรองรับรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV : Plug-in Hybrid) และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV: Battery Electric Vehicle) ได้ทุกรุ่น ทุกแบรนด์ โดยมีแผนขยายสถานีอัดประจุอีกกว่า 1,000 เครื่อง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศภายในปี 2565 รวมไปถึงการติดตั้ง PTT EV Charger ในที่พักอาศัยด้วย

อรุณ พลัส ยังได้จัดตั้งบริษัทย่อยอย่าง “อีวี มี พลัส” (EV ME PLUS) เพื่อดำเนินการในธุรกิจ EV ผ่านการให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศธุรกิจให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลายในไทย เช่น การให้บริการเช่ารถ EV บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า และสถานีซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นให้ผู้ขับขี่ที่สนใจได้ลองขับรถ EV ก่อนตัดสินใจซื้อ

กล่าวได้ว่า ปตท.ติดเครื่องรุกธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าตลอดห่วงโซ่มูลค่าตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง แม้แต่การบริการหลังการขายก็ไม่ละเลย ทาง ปตท.อาศัยบริษัทลูกอย่าง บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ที่มีธุรกิจร้านซ่อมบำรุงรถยนต์อย่าง FIT Auto ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบัน OR ได้มีการฝึกอบรมพนักงานในการซ่อมบำรุงรถ EV ด้วยเพื่อเตรียมความพร้อมรับยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต นอกเหนือจากการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ EV Station PluZ ที่ทยอยเปิดไปแล้ว 100 แห่งในสิ้นปี 2564 และจะขยายเพิ่มเป็น 300 แห่งในปี 2565 ช่วยเพิ่มความมั่นใจและกระตุ้นตลาด EV ขณะเดียวกันก็มองโอกาสในการเป็นตัวแทนจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

นอกจากนี้ บริษัท อัลฟ่าคอม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ปตท. ที่ถือหุ้น 100% ได้จัดตั้งบริษัทรีแอค จำกัด เพื่อเป็นตัวแทนให้บริการซื้อขายด้านพลังงานสะอาดและความเป็นกลางทางก๊าซเรือนกระจก (Climate Neutrality) ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มให้แก่บริษัทที่ต้องการจัดหาพลังงานหมุนเวียนให้สามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานดังกล่าวได้ง่าย โดยมีบริการหลัก เช่น การซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (RECs) ระบบในการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ Corporate Power Purchase Agreement (CPPA) รวมถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนกับรถ EV สอดคล้องกลยุทธ์ New S-Curve ของ ปตท.ในธุรกิจทางด้านพลังงานหมุนเวียน

 

รวมทั้งตั้งบริษัท เมฆาเทคโนโลยี จำกัด เพื่อลงทุนในธุรกิจให้บริการระบบสารสนเทศหลากหลายรูปแบบผ่านอินเทอร์เน็ต (Public Cloud) เช่น การให้บริการจัดเก็บข้อมูล ประมวลผล จัดการข้อมูลต่างๆ ให้แก่บริษัทองค์กรต่างๆ รวมถึงกลุ่ม ปตท. สอดรับกลยุทธ์ด้านดิจิทัล

ปี 65 อัดงบลุยธุรกิจ Life Science-EV Value Chain

สำหรับปี 2565 ปตท.ตั้งงบลงทุนอยู่ที่ 46,589 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติราว 13,232 ล้านบาท ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 9,305 ล้านบาท ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย 1,180 ล้านบาท ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 3,862ล้านบาท และการลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% วงเงินสูงถึง 19,010 ล้านบาท นับเป็นกลุ่มธุรกิจที่ ปตท.อัดงบลงทุนสูงสุดเลยทีเดียว แม้ว่าจะเป็นตัวเลขเงินลงทุนที่ไม่มากเท่าปี 2564 ที่ใช้เงินลงทุนถึง 28,269 ล้านบาทก็ตาม

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า นอกเหนือจากงบลงทุน 5 ปี วงเงิน 102,165 ล้านบาทแล้ว ปตท.ยังได้จัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ใน 5 ปีข้างหน้าอีก 238,032 ล้านบาท ตามกรอบวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ที่ ปตท.วางเป้าหมายมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวมเป็น 12,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 รวมถึงการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ตลอดจนการขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซฯ ซึ่งเป็นพลังงานเปลี่ยนผ่าน (Transition Fuel) โดยมุ่งเน้นในการขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

 

การขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งล่าสุดได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ แอลเอ็นจี เจวี จำกัด เพื่อทำธุรกิจจัดหาและจำหน่ายแอลเอ็นจีทั้งในและต่างประเทศ และได้ร่วมทุนกับบริษัท Tokyo Gas Engineering Solutions Corporation (TGES) ซึ่งบริษัทย่อย ซึ่ง Tokyo Gas Co., Ltd ในการให้บริการให้คำปรึกษาในการปรับปรุงประสิทธิภาพอุปกรณ์และเครื่องจักรแบบครบวงจร รวมถึงการจัดหาเชื้อเพลิงให้แก่ลูกค้าภาคอุตสาหกรรม

กอปรกับการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่นอกเหนือจากพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ Life science ธุรกิจโลจิสติกส์ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่ง ปตท.เข้าร่วมทุนกับพันธมิตรและชนะประมูลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง ระยะ 3 และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 ซึ่งจะมีการทยอยใช้เงินในปี 2565 เป็นต้นไป

การลงทุนทั้งหมดนี้เป็นไปตามแผนการดำเนินธุรกิจของ ปตท.ที่ต้องการเพิ่มพอร์ตการลงทุนในธุรกิจพลังงานอนาคต (Future Energy) ไม่ว่าจะเป็น พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) EV Value Chain รวมไปถึงพลังงานไฮโดรเจน และธุรกิจใหม่ (New Business) เช่น Life Science, Logistic & Infrastructure คิดเป็นสัดส่วน 32% ของการลงทุนรวม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2030 ปตท.จะมีกำไรจากธุรกิจพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่มากกว่า 30% ของกำไรรวม

ส่วนการลงทุนในธุรกิจหลัก (Core Businesses) ก็ยังมีการลงทุนต่อเนื่องเพื่อความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ เช่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8 ซึ่งนำก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาแยกเป็นผลิตภัณฑ์อีเทนและแอลพีจี รวมถึงถังเก็บผลิตภัณฑ์อีเทนและสถานีรับจ่ายเพื่อเพิ่มความสามารถในการนำเข้าผลิตภัณฑ์อีเทน รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 ทั้งยังมีการลงทุนผ่านบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% เช่น การขยายขีดความสามารถของสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เป็นต้น

ดังนั้นการลงทุนของ ปตท.นับจากนี้ไปภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่จะพลิกโฉม ปตท.ให้เป็นองค์กรชั้นนำที่ขับเคลื่อนทุกชีวิตสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตและเติบโตธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน มีคุณภาพชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น